วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ปฏิบัติธรรมผาซ่อนแก้ว: มิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ

ฟังหลวงพ่ออำนาจ โอภาโส เทศน์เรื่องสมาธิ ท่านสรุปให้ฟังว่า เวลาเรานั่งสมาธิแบบขาดสติ พอเกิดอาการเวทนาขึ้นมาก็ไม่พอใจ เริ่มเกิดอารมณ์พยาบาท หรือ พยาบาทนิวรณ์ และก็อยู่ในอารมณ์อย่างนั้น ตลอดการนั่งสมาธิ อย่างนี้ก็เป็นมิจฉาสมาธิ ถ้าอธิบายให้เห็นภาพ พวกที่เคยปฏิบัติตามระเบียบต้องเคยเจอเหตุการณ์อย่างนี้บางหล่ะ คือ นั่งสมาธิตามกำหนดเวลา นั่งไปนั่งมา เวทนาเกิด เจ็บขาขึ้นมา ก็ทนอยู่ในสมาธิ แต่พอเวทนากวนหนักๆ แถมอาจารย์ไม่สั่นกระดิ่งหมดเวลาซะที ก็เริ่มไปพยาบาทใส่วิทยากรซะงั้น และก็อยู่ในอารมณ์อย่างนั้นจนออกจากสมาธิ อย่างงี้ยิ่งนั่งยิ่งจิตใจแย่ลง ก็เป็นมิจฉาสมาธิ

หรือวันนี้เรานั่งสมาธิได้ดีสุดๆ สงบมา นิ่งมาก เกิดอารมณ์พอใจขึ้นมา เข้าไปยึดติดกับความสงบ เกิดเป็นกามฉันทะนิวรณ์ขึ้นมา แต่หากมีสติ เราจะไม่ไปเพลิดเพลินกับความสุข เราจะรับรู้และวางลง กลับมาอยู่ที่สภาวะจิตปกติ อย่างนี้เป็น สัมมาสมาธิ

แต่ถ้าขาดสติ ขาดสมาธิ ไหลตามกิเลส ก็จะเป็นมิจฉาสมาธิ

ปฏิบัติธรรมผาซ่อนแก้ว: มีแต่ความ เมื่อไม่มีกู

หลังจากศึกษาดูจิตมานิดหน่อย พอเห็นกูแล้ว มาพิจารณาเวทนาเวลาปฏิบัติ ก็เห็นเพิ่มเติมว่า กูชา กูเจ็บ อันนี้ขอพูดภาษาอย่างนี้เพราะมันถึงใจ และใช่กว่า แต่พอเพ่งในความเจ็บ แยกองค์ประกอบ พิจารณาธาตุเพิ่มเติม จึงได้เห็นว่า ความเจ็บมันไม่ได้เกิดร่างกายส่วนไหน พยายามมองหาว่ามันอยู่ส่วนไหนก็ไม่เห็น จาก "กูเจ็บ" มันก็เลยกลายเป็น "ความเจ็บ" ซึ่งหลังจากเห็นความเจ็บอีกไม่นาน ความเจ็บนั้นมันก็หายไป แต่ก็บางทีหรอกนะที่จะพิจารณาได้อย่างนี้

พอมาปฏิบัติที่นี่ ก็ได้ฟังเทศน์เพิ่มเติมซึ่งก็ตรงกับสภาวะธรรมที่เราเจอ ขอสรุปเลยแล้วกัน

ทุกอย่างจริงๆ ไม่มีเรา ไม่มีกู ไม่มีของกู ทุกอย่างมีแค่คำว่า "ความ" เท่านั้น แต่เนื่องจากจิตไปตามรับรู้ และปรุงแต่ง จึงเกิดความรู้สึกเกิดขึ้น สิ่งใดก้ตามที่เกิดขึ้นตามธรรมดา ย่อมดับไปเป็นธรรมดา เป็นบทธรรมที่พระอัสชิ หนึ่งในปัญจวัคคีย์สอน"อุปติสสะมานพ" หรืออนาคตคือ สารีบุตร หากสังเกตุจะพบว่า ท่านใช้คำว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คือ เป็นแค่ something ซึ่งเป็นอะไรก็ได้ เพราะทุกๆ สิ่งมีเกิดและก็มีดับ

เช่น หากเรามีความคิดเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแวบเข้ามา หรือกำลังคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จิตเราก็จดจ่อกับเรื่องนั้น จนลืมตัวลืมใจ พอรู้ว่าเผลอจิตไถลไปกับสิ่งที่คิด ก็กลับมารู้ในปัจจุบัน พอเราจะหาจิตดวงเดิมที่เผลอไปคิดเราจะหาไม่เจอ เพราะจิตที่คิดดับไปแล้ว เหลือแต่จิตที่กำลังค้นหา ดังนั้น จะเห็นว่าจิตนั้นไม่มีตัวตน หรือ มีความเป็นอนัตตา นั่นเอง

ในการใช้ชีวิตของเรา เราตั้งต้นว่าเราอย่างโน้น เราอย่างนี้ เริ่มต้นด้วยอัตตาตัวตน ดังนั้นเมื่อมีอะไรมากระทบ เราก็มีการคิดปรุงแต่ง อย่างน้อยก็ดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรา เราก็จะเริ่มคิดต่อไปว่า เราเป็นงั้นเป็นงี้ สรุปว่าเราก็คิดตามสิ่งที่มากระทบ แล้วก็ไหลไปตามอารมณ์นั้นๆ ก็เกิดทุกข์ขึ้นมา เขียนแล้วรู้สึกว่ายาก ยกตัวอย่างแล้วกัน เรานั่งทำงานอยู่เฉยๆ อยู่กับงาน จิตว่างๆ เบาๆ ต่อมานายเรียกไปหา แล้วบอกโน้นเตือนนี้และบ่นๆ เราได้ยินเสียงนายที่มากระทบก็คิดตาม พร้อมบ่นในใจว่า มาบ่นอะไรกับเรา แล้วจิตก็แต่งต่อไปว่า ไม่เข้าใจหรือไง ว่าเวลาทำงานปกติก็ไม่พอแล้ว แล้วยังเรียกว่าฟังบ่นอีก แล้วก็เดินงอนกลับโต๊ะไป กรณีนี้เห็นไหม เสียงนายมากระทบรู้ไม่ทัน เริ่มตีความเกี่ยวกับตนเอง สุดท้ายก็ทุกข์เพราะปรุงไปปรุงมากลายเป็นงอนนาย เป็นต้น

แต่ถ้าเราตั้งต้นให้ถูกว่า อันตัวเราก็เกิดจากการยืมธาตุทั้ง 4 มา ดังนั้นก็ไม่มีเรา ก็รอวันที่ต้องคืนธาตุเค้าไป เหมือนเราเป็นผู้เช่ามาอาศัยชั่วคราวในบ้านเช่า คือร่างกายนี้ เมื่อบ้านเช่าทรุดโทรมมาก เราก็ย้ายบ้านเช่า ฉะนั้นร่างกายนี้ก็ไม่ใช่เรา

เมื่อนั่งสมาธินาน ไม่เข้าฌาน ย่อมเกิดอาการชา เจ็บ และปวด ทยอยมาเรื่อยๆ ถ้าเราจับที่ลมหายใจก็ปลอดภัย แต่ถ้าจิตแส่ส่ายมาที่ขา ก็รับรู้ถึงอาการปวด กลายเป็น กูปวด พอรู้ทันพิจารณาลงไปขามันก็ไม่ใช่เรา แล้วไอ้ที่ปวดมันคืออะไร อยู่ตรงไหน ก็จะเห็นว่ามันไม่ได้อยู่ในขา มันเป็นอะไรที่ไม่เกี่ยวกับกาย มันก็เรียกว่า เป็นแค่ความปวด แต่ไม่มีใครมีรองรับความปวด

ดังนั้น หากเราสามารถพิจารณาได้ตรงตามความจริงที่ว่า เราไม่มี หรือ กูไม่มี เราก็ไม่มีอะไรมารองรับความรู้สึก ก็จะเห็นเพียงก้อนความรู้สึกเท่านั้น

หรือโดยสรุป เมื่อไม่มีกู ก็มีแต่คำว่า "ความ"

การเตรียมตัวก่อนตายอย่างสงบ: ร.4

2 - 3 วันที่แล้วได้รับหนังสืออาทิตย์อัสดง อ่านแล้วเลยอยากนำมาแชร์ ถึงความมีสติกับความพร้อมก่อนตายที่สรรเสริญและน่าเอาแบบอย่างของรัชกาลที่ 4 เรารู้กันอยู่ว่าพระองค์ท่านเป็นนักปฏิบัติธรรม แต่เมื่ออ่านบทความนี้ ยิ่งทำให้ทราบถึงท่านเข้าถึงจริงๆ ขอสรุปบทความนี้แล้วกันนะคะ เพราะพิมพ์หมดก็ไม่ไหว

หลังจากร ร. 4 กลับจากดูสุริยุปราคาที่หว้ากอ ท่านมีอาการเหมือนไข้มามาเรีย หลังจากแพทย์ถวายโอสถหลายวัน ท่านก็ตรัสว่า โรคก็มาก ถ้าอาการก็เหลือมือหมอ ก็ให้พูดความจริง จะได้ทรงจัดการธุระให้เสร็จเสีย และเมื่ออาการเกินการักษา ช่วงเช้าของวันจะสวรรคต ทรงแสดงประสงค์เกี่ยวกับการจัดการพระสรีระโดยละเอียด สิ่งที่ไม่ทรงชอบก็สั่งห้ามเสีย แต่ก็ไม่ให้ขัดแย้งกับโบราณราชเพณี
ช่วงสาย ทรงมีกระแสรับสั่งกัยพระเจ้าน้องยา ขุนนาง ขอลา และฝากฝังพระราชโอรส

ช่วงเย็น ขอขมาลาพระสงฆ์ โดยมีส่วนหนึ่งกล่าวว่า "เมื่อกายของฉันกระสับกระส่าย แต่จิตของฉันจักไม่กระสับกระส่าย เพราะฉันทำตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยประการดังนี้

เป็นไงหล่ะ เราพวกหัดปฏิบัติ เจ็บป่วยยังไม่ตายก็ปากเบาโอดโอย เจอพระองค์ท่านพูดเช่นนี้ เป็นไงหล่ะ ถ้าตีความตามสติปัญญาอันน้อยนิด นี่หมายความว่าอะไร ก็หมายถึงใจ-กายท่ายแยกกันโดยสมบูรณ์แล้ว


ตลอดวันสวรรคต ร.4 เจริยสติภาวนาด้วยตนเองตั้งแต่เช้าตรู่ ทรงรับสั่งกับเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ว่า

วันนี้เป็นวันสำคัญอย่างไปข้างไหนเลย ให้คอยดูใจพ่อ ข้ารู้เวลาตายของข้า ถ้าข้าไปอย่างไรลง ก็อย่าวุ่นวายบอกหนทางว่า อรหังพุทโธเลย ให้ดูนิ่งๆ แต่ในใจเถิด เป็นธุระของข้าเอง

จนถึงพลบค่ำ พระองค์ทรงเจริญสติภาวนาจนกระทั่งเสด็จสวรรคตไปอย่างสงบทั้งๆ ที่มีอาการประชวรหนัก

โดยสรุป ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจนรู้วาระของตน สามารถพาตนให้รอดไปได้ โดยมีสติรู้เนื้อรู้ตัว จัดการธุระ และวางธุระของตนลงได้ แล้วเราหล่ะ เตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางไปโลกต่อไปหรือยัง

แต่ด้วยอานิสงส์ของการเผยแพร่บทความและการอ่านบทความนี้ ขอให้ข้าพเจ้าและผู้อ่านทุกท่าน ขอจงมีสติเอาตัวรอดในขั้นตอนในวาระสุดท้ายด้วยเถิด  สาธุ

วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ปฏิบัติธรรมผาซ่อนแก้ว: อยู่กับรู้

อยู่กับรู้ อันนี้เป็นชื่อคอร์สแรกของที่วัดพระธาตุผาแก้ว ฟังหลวงพ่ออำนาจ หลวงพ่อปารมีเทศน์ ก็ขอสรุปง่ายว่า ตามที่ผู้เริ่มเดินเข้าใจ ผิดถูกลองอ่านดูเองนะคะ

1. อยู่กับรู้ คืออะไร ก็มีชีวิตอยู่แบบง่ายๆ ง่ายแค่ไหนก็แบบอยู่แบบธรรมชาติ  ธรรมชาติแค่ไหน ก็ธรรมชาติความเป็นจริงของตัวเรา อยู่ที่กาย อยู่ที่ใจนี้ อยู่ด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว ขยันรู้ไปเรื่อยๆ ก็เก็บแต้มไปเรื่อยๆ ถ้าพูดแบบเรือนธรรม ก็ต้องบอกว่าก็เก็บแต้มสีขาวไปเรื่อยๆ จะแต้มเล็กแต้มน้อยก็ค่อยๆ สะสมกันไป

2. สติเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง โรงเรียนต่างๆ สอนจริยธรรมกันมากมาย แต่คนจะมีคุณธรรม จริยธรรมได้ก็ต่อเมื่อมีความรู้จักละอายและมีความเกรงกลัวต่อผลการกระทำนั้น นั้นก็คือมีหิริ โอตัปปะนั่นเอง แต่คนเราจะมีหิริโอตัปปะได้ ก็ต่อเมื่อคนๆ นั้นมีความรู้สึกรู้เนื้อรู้ตัว ก็คือมีสติ ดังนั้นหากไม่สอนให้มีสติซะก่อน สอนจริยธรรมไปก็ไม่มีประโยชน์ ส่วนสติ คือ อะไร ก็ให้ย้อนไปอ่าน เรื่องคุณสมบัติของสติก็แล้วกัน

3. สีลพตปรามาส การลูบคลำศีล คืออะไร สีลพตปรามาส เป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งที่ผู้พึงได้โสดาบันต้องผ่านไปแล้ว เคยอ่านหนังสือของแม่ชีแก้ว อรหันตสาวกหญิงองค์แรกของยุครัตนโกสินทร์ ท่านอธิบายได้ละเอียดมาก พูดง่ายๆ คือ รับศีลครั้งเดียวก็พอ รับแล้วตั้งใจรักษาไม่ให้ขาดไม่ให้ทำลาย รักษาศีลทั้งในระดับกาย วาจา และศีลที่ใจ แม้จะไปง่ายพิธีใดๆ มีการรับศีล ก็ถือเพียงว่าเป็นศาสนพิธี เพระตนรักษาศีลของตนดีอยู่แล้ว

ส่วนที่ได้รับเพิ่มเติมจากผาซ่อนแก้ว ก็กล่าวในระดับที่ลึกขึ้น คือ พอเรามีสติ สติทำหน้าที่รักษาจิต ก็จะรักษาศีลโดยธรรมชาติ ไม่ต้องคอยระมัดระวังเรื่องศีลจะขาด ศีลจะบกพร่อง คือ มีศีลแบบไม่ต้องถือว่าเป็นศีล เพระจริงๆ ศีลก็แปลว่า ปกติ คือ อยู่แบบปกติ ไม่ต้องยึดมั่น ถือมั่นในตัวศีล เพราะจะกลายเป็นอยากดี ก็เลยไปติดเกณฑ์ศีลอีกที

สติ ทำให้ตั้งใจ ใส่ใจ แล้วก็เกิดความเข้าใจ อันนี้เนื้อความสมบูรณ์ด้วยคำพูดเอง ไม่ต้องอธิบายดีกว่าเดี๋ยวจะเพี้ยนไป

สรุปเลยแล้วกัน อยู่กับรู้ คือ อยู่แบบรู้กาย รู้ใจ ไม่บีบคั้น ตามรู้กายใจไปเรื่อยๆ

ปฏิบัติธรรมผาซ่อนแก้ว: คุณสมบัติของสติ

เมื่อวันที่ 23 - 26 เมษายน 2554 ไปปฏิบัติที่ธรรมที่วัดพระธาตุผาแก้ว หรือพุทธธรรมสถานผาซ่อนแก้วเดิม ได้ข้อคิดมากมาย เดี๋ยวจะทยอยเขียนมาแชร์กัน

ตอนไปเรียนที่เรือนธรรม ราชวัตร ในคอร์สสมาธิ ระดับ 1 พอมาอบรมคอร์สนี้ เหมือนอะไรที่ลงตัว มาเรียนเรื่องสติ ประกอบกันพอดี

สติ มีคุณสมบัติที่สำคัญ 4 ประกอบ คือ

1. ไม่หลง ไม่เหม่อ ไม่เผลอ อันนี้เราก็รู้ๆ กันอยู่ หากเบื้องต้นตอนยังไม่ปฏิบัติธรรม ก็ชอบเข้าใจว่าตัวเองเป็นพวกมีสติ พอเริ่มปฏิบัติจึงได้ยอมรับกับตัวเองว่า ไม่มีสติเลย มีแต่ไอ้เผลอ ไอ้เหม่อ ไอ้หลง
แล้ว พวกมีสติเป็นไง ก็มีความรู้สึกอยู่กับกายและใจนี้ ไม่ส่งความรู้สึกออกนอก ฝึกหัดใหม่ๆ อย่างเราๆ ท่านๆ ก็ไม่ต้องเกร็ง จับจิตกดไว้กับกายใจ เดี๋ยวอึดอัด เครียดตายกันก่อนปฏิบัติ เอาเป็นว่า หลง เหม่อ เผลอ เมื่อไหร่ กลับมารู้ตัวเมื่อไหร่ ก็ได้ 1 แต้ม ก็ขยันสะสมแต้มบ่อยๆ ก็จะเกิด คุณสมบัติข้อที่ 1

2. สติมีที่ตั้งอยู่ที่กายที่ใจนี้ ถ้าอยู่นอกนี้ ถือว่าส่งออกทั้งหมด

3. จำสภาวะได้ ก็จำได้นั่นแหละว่า อาการของการมีสติอยู่กับเนื้อกับตัวเป็นยังไง

4. อารักขาจิต พอจำสภาวะ เผลอ เหม่อ น้อยลง ไหลไปตามกิเลสก็น้อยลง สติก็เลยทำหน้าที่เหมือนคอยอารักขาจิตจากกิเลสที่มาครอบคลุมดวงจิต

แล้วจากคุณสมบัติ 4 ข้อ ลองยอมรับกันตรงๆ มีสติหรือขาดสติ แม้ตอนอ่านนี้นั่งคิดตามก็ขาดสติแล้วนะ
ลองมาเช็คกัน

ข้อ 1 ยังเหม่อ ยังเผลอ อยู่
ข้อ 2 ที่ตั้ง อยู่ที่ในกาย ใจบ้าง นอกกายบ้าง
ข้อ 3 จำสภาวะได้บ้าง แต่ไหลไปคิดเป็นส่วนใหญ๋
ข้อ 4 ยังตามกิเลสอยู่

สรุปว่า ยังเป็นอยู่ไม่มีสติทั้ง 4 ข้อ ก็ต้องพยายามกันต่อไปนี้ หลวงพ่ออำนาจ โอภาโส และหลวงพ่อปารมี เจ้าอาวาสที่นี้ สอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างต้องอาศัยเวลาให้สุกงอม เหมือนผลไม้เราจะเร่งให้สุกอย่างไร มันก็ไม่เหมือนมันสุกเอง ทุกอย่างมีเหตุปัจจัย เราอยากหลุดพ้น เราก็ต้องเร่งสร้างมหาเหตุ แล้วผลจะตามมาเอง โดยมหาเหตุที่ว่า ก็คือ เร่งปฏิบัติซะ...

ผู้เริ่มเดิน
9 พ.ค. 2554
19.25 น.

บทกลอน_ตอนกลับจากผาซ่อนแก้ว

เด็กก็ตาย รุ่นก็ตาย แก่ก็ตาย
ใครห้ามได้ ล้วนตาย กันทั้งนั้น
จะยากดี มีจน ไม่สำคัญ
ต้องตายกัน ถ้วนทั่ว ทุกคัวตน