วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

กลอนธรรมะ

โลกนี้ ล้วนแต่มีทุกข์
แต่ก็สุดที่ใครจะยึดถือ
ถือมาก ทุกข์มาก กล่าวไว้คือ
ถ้าคลายถือ สุขเข้า ทุกข์จางไป

พากเพียรพิจารณาธรรม พระธรรมเทศนา โดย หลวงปู่สิงห์ทอง ธมฺมวโร

พระธรรมเทศนา โดย หลวงปู่สิงห์ทอง ธมฺมวโร
วัดป่าแก้วชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร


พวกเราทั้งหลายอยากสุขอยากสบาย ก็พากันประพฤติปฏิบัติ
กำหนดอรรถธรรมที่พระพุทธเจ้าแนะสอน
พระธรรมนั้นไม่ได้หนีไปจากกายจากจิต มีอยู่ในกายในจิตเท่านั้น
ผู้ลุ่มหลงจริงจัง ตัวเหตุใหญ่คือจิต จิตไปติดข้อง ไปมั่นหมาย
ว่าหญิง ว่าชาย ว่าหนุ่ม ว่าสาวต่างๆ
ไม่ได้พิจารณาไปในทางที่จะแก้จิตให้รู้เห็นตามความเป็นจริง
คือว่ากายนี้ประกอบขึ้นจากธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มีอะไรผิดแผกแตกต่างกัน
จะเป็นหญิง เป็นชาย หรือเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็เรื่องสมมุติ
ส่วนนั้นเขาไม่ได้ว่าเขาเป็นอะไร ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เราก็สมมุติเอา
เขาไม่ได้ว่าเขาเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง
เราจะเรียกชื่อใหม่ เขาก็ไม่ได้มีอาการเสียใจ ดีใจ
เรื่องของจิตถ้าหากพินิจพิจารณาตามเรื่องของธรรมะ เป็นเรื่องแก้ปัญหาของใจ
ใจจะมีวันเบา มีวันสบาย ไม่ติดข้องในสิ่งต่างๆ
อยู่ในโลกแบบสุขแบบสบาย ไม่วุ่นวายด้วยความรักความชังต่างๆ
พระพุทธเจ้าเห็นอานิสงส์ด้วยพระองค์เอง จึงมาแนะนำสอนสรรพสัตว์
สัตว์ที่มีนิสัย มีความใคร่อยากจะพ้นทุกข์
พินิจพิจารณาติดตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
ก็เข้าใจว่าท่านสอนจริง ไม่มีสิ่งใดที่จะแย้ง
เพราะจิตเห็นจริงตามคำสอนของท่าน
ก็ของจริงมันมีอยู่อย่างไร พิจารณาลงไปมันก็เห็น เพราะมันมีอยู่
ถ้ามันไม่มี มันก็ไม่เห็น
ของที่ควรละได้ ปล่อยได้ วางได้ มันก็ปล่อยวาง
ถ้าหากมันเห็นอันตรายแก่ตัวของตัวแล้ว
มันไม่ยึด ไม่ถือ ไม่แบก ไม่หามเอาไว้
นี่ใจของพวกเราท่านห่างธรรมะ ไม่ได้พินิจพิจารณาอย่างนั้น
จึงยึดถือธาตุขันธ์ว่าเรา ว่าเขา
โกรธเกลียดต่างๆ เกิดขึ้นจากความยึดถือ
หากพินิจพิจารณาตามสภาวธรรมจริงจัง
มันจะรู้เห็นแล้วปล่อยวาง ไม่ยึด ไม่ข้อง ไม่ติด
เรื่องของจิตเป็นเรื่องชำระได้
ถ้าชำระไม่ได้ ก็ไม่มีใครจะเป็นคนดี คนวิเศษได้
ทำดีทางศาสนาท่านถือเอาจิต ไม่ได้ถือเอาเป็นเรื่องของกาย
ความรู้ของศาสนาถือเอาจิตที่รู้ที่เห็น ไม่ได้ถือเอาสัญญาความจำเหมือนโลกๆ
เมื่อเราฝึกจิตจนรู้จนเห็นเด่นชัด ปฏิบัติด้วยใจจริงเห็นจริงแล้ว
เราจะทราบได้เองว่าเดี๋ยวนี้เราเป็นอย่างไร
จิตใจที่เคยขุ่นมัวเศร้าหมอง จิตใจที่เคยติดข้องต่างๆ มันละมันถอนได้ไหม
มันทราบภายในตัวทุกระยะ เพราะการปฏิบัติบ่งบอกอยู่
จิตเจริญ จิตเสื่อม ทราบได้ทั้งนั้น
แต่คนที่ไม่ปฏิบัติก็ไม่รู้ว่ามันเสื่อมเพราะเหตุใด มันเจริญเพราะเหตุใด
ลุ่มหลงเรื่อยไป มืดกระทั่งวันตาย นี่คือคนไม่ปฏิบัติธรรมะ
คนปฏิบัติธรรมะย่อมมีมืดมีสว่าง มีเสื่อม มีเจริญ มีได้มีเสีย
ระยะปฏิบัติจะต้องเป็นอย่างนั้น
ต่อมาเมื่อปฏิบัติ เคยเห็น เคยเป็น ประจักษ์ชัดเจนในใจ จิตหยาบจิตละเอียด
ความเป็นของใจก็เหมือนกับผลไม้ เมื่อมันยังอ่อนยังดิบอยู่ก็รสหนึ่ง
เมื่อมันสุกแล้ว ไม่ต้องไปหาน้ำอ้อยน้ำตาลจากที่ไหนมาใส่ มันก็หวานขึ้นเอง
ความหวานของมันเกิดขึ้นจากที่ฝาดๆ เปรี้ยวๆ นั่นแหละ
จิตใจของเราท่านก็ทำนองเดียวกัน
ความบริสุทธิ์เป็นอย่างไร ผู้ปฏิบัติจะรู้ได้เอง
ขอให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ อย่าทอดธุระ อย่าท้อถอย
อย่าไปตะครุบเรื่องเสื่อม เรื่องเจริญต่างๆ
มีหน้าที่ปฏิบัติก็ปฏิบัติเรื่อยไป
เมื่อถึงที่สุดแห่งความหลุดพ้นเป็นอย่างไร ก็ไม่มีทางสงสัยในตนเอง
ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องประพฤติปฏิบัติ ให้รู้ ให้เห็น ให้เป็นในตัว
เพราะธรรมะเท่านั้นที่จะให้ความสุขอย่างประเสริฐ
ไม่มีสุขใดจะสุขเลิศเท่ากับจิตหลุดพ้นจากกิเลสถึงธรรมะ
ธรรมทำคนให้บริสุทธิ์ได้อย่างนั้น
ขอทุกท่านจงหมั่นพินิจพิจารณาศึกษา
การประพฤติปฏิบัติอย่าไปคิดที่อื่น อย่าไปดูที่อื่น ให้ดูตัวของตัว
เพราะก้อนของกายนี้เป็นธรรมะ เรียกว่ารูปธรรม
ความคิดปรุงต่างๆ ก็เป็นธรรม คือเป็นนามธรรม
ถ้ามีสติ มีปัญญา ทุกสิ่งทุกอย่างมีอยู่ในโลก อยู่ในตัวของเรา
เป็นผลเป็นประโยชน์มีคุณค่าราคา

ถ้าหากเราไม่มีสติปัญญา ถึงจะเฝ้าขุมเงินขุมทองอยู่
ก็ไม่ทราบว่าจะเอาประโยชน์จากเงินจากทองได้อย่างไร
เพราะไม่มีปัญญาที่จะนำสิ่งนั้นไปใช้สอยให้เป็นประโยชน์
พระพุทธเจ้าหรือพระอริยเจ้า ท่านก็มีกายมีใจเหมือนพวกเรา
แต่ท่านฉลาดแหลมคมพินิจพิจารณาใจที่เคยโง่เง่าเต่าตุ่นด้วยธรรมะ
สอบสืบด้วยสติ คลี่คลายด้วยปัญญา
ให้เห็นเรื่องของกายตามเป็นจริง เรื่องของใจตามเป็นจริง
แล้วปล่อยวางละถอนความติดข้องต่างๆ
ที่ใจเคยแส่ส่ายไปตามเรื่อง อารมณ์สัญญาตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ธรรมะสอนให้คนเข้าสู่ความสงบ จะพินิจพิจารณากำหนดอะไร
เมื่อใจสงบมันเหมือนกันหมด เมื่อใจหลุดพ้น มันเหมือนกันหมด ไม่เป็นอื่น
ธรรมะถึงจะมีมากมายหลายหลวง ตั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์
ก็สอนกายสอนใจพวกเราท่านให้ได้รับความสงบ ความพ้นทุกข์
ไม่ได้สอนไปที่อื่น เมื่อเราฝึกอบรมตัวของเรา
เราจะเห็นดีชั่วต่างๆ เสื่อมเจริญต่างๆ ให้จิตสลดสังเวช
ให้จิตเพลิดเพลินในความเป็นไป เพราะความเห็นความเป็นของตัวมันเพลินได้
สนุกสบายในการพิจารณาธรรมะ
แล้วไม่เลือกกาลเวลา ไม่หาสถานที่ เพราะธรรมะมีอยู่ในกาย ในใจ
เราไปสถานที่ใดก็ไปกับธรรมะ พิจารณาอยู่ตลอดเวลา
นี่คือใจที่เข้าถึงเรื่องของธรรมะ ไม่เผลอ
มีแต่พินิจพิจารณาแก้ไขตัวของตัวอยู่สม่ำเสมอไป
อะไรที่เห็น อะไรที่ได้ยิน นึกน้อมเข้ามาพินิจพิจารณา
เพื่อให้เกิดสติ ให้เกิดปัญญา ให้เกิดวิชชาวิมุตติ ไม่ได้เผลอ ไม่ได้ผ่านไป
นี่ปกติคนมีธรรมะ ไปสถานที่ใดจึงไม่ขาดทุนสูญกำไร ไปสถานที่ใดสะดวกสบาย
แต่พวกเราท่านไม่ได้เป็นอย่างนั้น
โดยส่วนใหญ่ก็เอาแต่เวลานั่งฟังเทศน์ เอาแต่เวลานั่งภาวนา และเดินจงกรมเท่านั้น
นอกจากนี้ก็ส่งกระแสจิตคิดปรุงไปต่างๆ ว่าไม่ใช่หน้าที่ที่จะพินิจพิจารณาธรรมะ
ถ้าใจเป็นอย่างนั้น มันยังห่างไกลจากธรรมะ ยังไกลมาก
ใจที่เข้าถึงธรรมะไม่เป็นอย่างนั้น ไม่ว่าอยู่อิริยาบถใด
พินิจพิจารณากายใจของตัวอยู่เสมอ ไม่ปล่อยปละละเลย

นี่คือผู้ที่มีธรรมะ ผู้ที่ถึงธรรมะ
สัมผัสอยู่กับธรรม พิจารณาแต่เรื่องธรรมะ
เมื่อพิจารณาธรรมะ เรื่องกิเลสตัณหา เรื่องความลุ่มหลงต่างๆ มันก็ตกออกไป
เหมือนกันกับแสงไฟ เราตามขึ้นเมื่อใด ความมืดมันก็หายไป ตกไป
ถ้าเราไม่ตาม ไฟดับเมื่อใด ความมืดมันก็มืดทึบเข้า
ไฟจึงเป็นข้าศึกของความมืด แสงสว่างเป็นข้าศึกของความมืด
ในทำนองเดียวกัน การพิจารณาธรรมะก็เป็นข้าศึกของกิเลสตัณหา
กิเลสจึงไม่มีวันเวลาที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องในจิตใจ
ที่มีอยู่ตอนใด ท่านก็พิจารณาเรื่องของกิเลสตัณหานั้นๆ
เพื่อจะขับไล่ให้หมดไป ตกไป ด้วยอุบายวิธีต่างๆ
เมื่อเกิดปัญญาเห็นแจ้งขึ้น สิ่งที่เคยติดข้องมันก็ตกไป หายไป
ไม่มีการสงสัย ถ้ายังสงสัยอยู่ ก็คือมันไม่รู้ไม่เห็น
เพียงแต่รู้ยังไม่เห็น มันก็สงสัย เพียงแต่เห็นยังไม่รู้ มันก็สงสัย
นี่การปฏิบัติใจทั้งรู้ทั้งเห็น เรื่องความสงสัยต่างๆ มันจึงตกออกไป
เมื่อมันตกออกไป ใครเล่าเป็นคนพิจารณา
ก็คนนั้นแหละจะรู้ว่ามันตกออกไป ไม่ใช่คนอื่นมาบอกให้
ว่าเจ้าเป็นอันนั้น เจ้าเป็นอันนี้ ดีวิเศษแล้วนะ นั่นมันลมปากของคนอื่น
ถ้ามันดีด้วยลมปากคนอื่นเขาว่า ก็จะไม่มีใครที่จะเป็นปุถุชนคนหนา
หรือทางโลกก็ไม่มีใครที่จะอดอยากยากจน เช่นเขาบอกว่า
“ท่านเป็นเศรษฐีแล้วนะ มั่งมีแล้วนะ บ่อเงินบ่อทองอยู่ที่นั่นที่นี่เป็นของเจ้า”
เราก็เป็นจริง มีจริง
หรือบอกว่า “ภูเขาลูกนั้นเป็นทองแล้วนะ” ภูเขาก็กลายเป็นทองขึ้น
หากมันเป็นไปได้อย่างนั้น มันดีด้วยลมปาก
มันก็ไม่จำเป็นต้องประพฤติปฏิบัติ ไม่จำเป็นต้องทำงานทำการกัน
ลมปากก็เป็นพิษเป็นภัย มีอิทธิพลมากเหมือนกัน เพราะใจไม่รู้เห็นตามเป็นจริง
เลยตะครุบเงาว่า “เขากล่าวตู่ดูหมิ่น” ว่า “เขาว่าอย่างนั้น อย่างนี้”
เพลิดเพลินลุ่มหลงไปตามลมปากของคน จนถึงกับเป็นบ้าเป็นบอไปก็มี
นี่คือตัวของตัวไม่ดูตัวของตัว มองไปแต่ข้างหน้า
ไม่ได้ดูว่าทางภายในของตัวมันเป็นอย่างไร
เขาว่าดีชั่วก็ต้องดูเรื่องของตัว
ถ้าเขาว่าชั่วก็ควรจะปรับปรุงแก้ไข
เพราะเขาว่าถูกแล้ว “ดี สาธุ เขาบอกขุมทรัพย์ให้”
เพื่อเราจะได้ละ จะได้ถอน ได้แก้ไขความชั่วเสียต่างๆ ในกายในใจของเรา
เขาว่าดี แต่เรายังไม่ดี ก็ไม่ควรเพลิดเพลินลุ่มหลง
นั่นเขาเห็นเขามองเราในแง่ดีต่างหาก
ตัวของเรายังชั่วยังเสียอยู่ก็ควรจะละอายใจ
ควรปฏิบัติแก้ไขให้ตัวของเราดีอย่างเขาว่า
มันไม่มีอะไรที่จะเสียหาย ได้ยินการตำหนิก็ดูตัวของตัว
ได้ยินการชมเชยสรรเสริญก็ดูตัวให้เป็นธรรมอยู่สม่ำเสมอ
คนนั้นไม่หวั่นไหว จิตใจตั้งมั่น ไม่มีการเสียหาย

นี่เป็นอย่างนั้นไม่ได้ก็เพราะขาดธรรมะ เพราะไม่ได้พินิจพิจารณาตัวเอง
เขาว่า “ชั่ว” ก็เสียใจ เขาว่า “ดี” ก็ดีใจ
ทั้งๆ ที่ตัวไม่ชั่ว ไม่ดีอย่างที่เขาว่า
นี่คือจิตไม่มีรากฐานมั่นคงในทางธรรมะ
ท่านจึงให้ฝึกอบรมให้จิตรู้เห็นเหตุผลต่างๆ ให้จิตตั้งมั่นเข้าใจตามเป็นจริง
เมื่อรู้เมื่อเห็นเรื่องของตัวอยู่ทุกระยะเวลา มันก็ไม่ตะครุบเงา
คือไม่ติดตามลมปากของเขา เขาว่าดี เราไม่ดี
หน้าที่ของเราจะปฏิบัติอย่างไร เราก็ปฏิบัติไป เขาว่าชั่ว ว่าเสีย แต่เราไม่ชั่ว ไม่มีเสียอะไร
นั่นเป็นลมปากของเขา เราก็เฉย สะดวกสบาย
ธรรมะเป็นเรื่องกำจัดความลุ่มหลงของใจอย่างนี้
ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจึงมีความสุขความสบายอยู่ทุกระยะเวลา

ฉะนั้นเมื่อพวกเราท่านได้สดับรับฟังธรรมะ
ก็จงนำไปพินิจพิจารณา ฝึกกาย วาจา ใจของตน
ต่อแต่นั้นก็จะมีความสุขความเจริญ
การอธิบายธรรมะเห็นว่าพอสมควรแก่เวลา เอวังฯ

โจทย์ที่ยากขึ้นเรื่อยๆ


นั่งพิมพ์อยู่นี้ก็มีความรู้สึกเหมือนใกล้เป็นลมตลอดเวลา รู้สึกโจทย์ในการศึกษาตัวเองยากขึ้นเรื่อยๆ ยากจนศึกษาด้วยความรู้สึกน้ำตาเล็ด แต่ก็แฟร์ ทำให้รู้ความจริงว่า เรายังเป็นกลางไม่ได้สักที
ปีนี้ โจทย์ยากขึ้น เหมือนกำลังให้รู้เรียนเรื่องเวทนา ก็เห็นนะ ว่าความเจ็บป่วยมันไม่แน่นอน วันเสาร์-อาทิตย์ ขึ้นเขาคิชกูฏ ทั้งๆ ที่ฝนตก เหตุปัจจัยก็พร้อมทื่จะทำให้ป่วยกลับไม่ป่วย กลับมาทำงาน 2 วัน ป่วยกะทันหันเป็นคออักเสบ ปวดเมื่อยไปทั้งตัวเลย นี่แหน่ะนะความเป็นอนิจจัง ตัวทุกข์จะแสนจะสะใจ ให้พิจารณาเวทนาให้เมามันกันไปเลย ปวดเมื่อยแทบจะลุกไม่ขึ้น จะลุกทีก็ต้องกำหนดสติกันไป ใช้จิตคุมกันให้เดินกันไป
ต้องบอกว่าเวทนารอบนี้สุดยอดจริงๆ ป่วยมาท่าทางรอบนี้คงหนักสุด ปวดเมื่อยไม่พอ ยังมีอาการวิ่งเจ็บตามเส้นเอ็นเป็นจุดๆ เหมือนอาการเอ็นอักเสบอีกต่างหาก สงสัยกลัวว่าเวทนาอยู่กับที่แล้วจะไม่ตามดู วันนี้เริ่มมีอาหารหายใจอึดอัด พอรู้ตัวกำหนดลมก็ดีขึ้น นั่งเขียนนี้กำลังสติไป ก็รู้สึกเหมือนอาการดีขึ้น

พอทำใจเป็นกลางได้เป็นพักๆ ก็ไม่รู้สึกอะไร แต่พอจิตไหลไปรวมกับเวทนา โห รู้สึกเหมือนอยากจะทิ้งกายไปเลย ความรู้สึกทุกข์ในถุงกระดูกนี้มันไม่เบาเลย ยิ่งทำให้เห็นชัดเจนตามที่พระพุทธเจ้าบอกว่า สังขารนี้เป็นกองทุกข์จริงๆ

แต่ก็ดี มีให้เห็นก็ดี มีโจทย์ให้ฝึก จะได้ไม่เสียของ

23 กุมภาพันธ์ 2555

ไก่ CEO โดยท่าน ว. วชิรเมธี

ที่วัดเซนแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น มีไก่อยู่ครอบครัวหนึ่ง หัวหน้าครอบครัวเป็นผู้บริหารที่เก่งมาก กางปีกปกป้องภรรยาและลูกทุกตัว อยู่กันมาอย่างมีความสุข ทุกๆ เช้าเวลาตีห้า ไก่ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวจะบินขึ้นไปเกาะอยู่บนกิ่งไม้ และโก่งคอขันเสียงก้องไปทั้งพงไพร ประมาณหกโมงเช้า พระอาทิตย์ก็จะอรุโณทัยฉายแสงขึ้นมาส่องแสงสว่างไปทั่วทั้งสากลโลก ไก่สี่ตัวนี้จะมีความสุขมากที่ได้ เห็นตะวันค่อยๆ ทอแสงสุขสว่างขึ้นมา เขาจะยืนชื่นชมแสงตะวัน และก็ยืนภาคภูมิใจว่า เพราะฉันขันตะวันจึงขึ้น มีความสุข นี่คือผลงานของฉัน

ทุกๆ เช้าไก่ตัวนี้ก็จะบินขึ้นมาเกาะกิ่งไม้ และเมื่อขันเสร็จแล้วก็รอดูตะวันขึ้นที่เหนือยอดเขา พอตะวันขึ้นเสร็จแล้วก็บินกลับลงมาหาอยู่หากินกับลูกกับเมีย เขามีความสุขมาก

ต่อมาวันหนึ่ง เนื่องจากตรากตรำภาระหนักเหลือเกิน ร่างกายทนไม่ไหวก็ป่วย เช้าตรู่วันนั้นไก่ตัวนั้นก็บินขึ้นไปเกาะกิ่งไม้ที่เดิม ขณะจะขันเพื่อเรียกตะวันขึ้นก็ร่วงตกลงมา รู้สึกไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง ลูกชายซึ่งเป็นไก่โต้งคนรุ่นใหม่ไฟแรงเดินเข้ามาประคองพ่อ “พ่อ ผมว่า ถ้าพ่อขันไม่ไหว วันนี้ผมขันแทนเอาไหม ” ไก่พ่อซึ่งเป็นซีอีโอ ก็ยืดอกขึ้นมาชี้หน้าลูก “น้ำหน้าอย่างแก ถ้าขันตะวันมันจะขึ้นไหม หัดดูเงาหัวตัวเองซะบ้างสิ ” เจอผู้ใหญ่ดับฝันแบบนี้ลูกหัวหดเลย

เช้าตรู่วันนั้นทั้งๆ ที่ป่วย ไก่ซีอีโอตัวนี้ก็บินขึ้นไป เกาะบนกิ่งไม้ และก็ขันครั้งสุดท้าย ขันได้ครั้งเดียว ตกลงมาดิ้นพราดๆ ก่อนจะขาดใจตาย เรียกประชุมผู้ถือหุ้นด่วน ทั้งภรรยาและลูกมากันครบ สั่งเสียว่า

“เธอที่รัก ลูกพ่อ ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไปพี่คงไม่มีชีวิตอยู่ต่ออีกแล้ว และจากนี้เป็นต้นไป พอพี่ไม่ขัน ตะวันก็จะไม่ขึ้น โลกก็จะเข้าสู่กลียุค
ฉะนั้นขอให้เธอและลูกดูแลบริษัทของเราให้ดีๆ ถ้าไม่มีพี่แล้วจะอยู่กันด้วยความยากลำบาก มนุษยชาติก็จะถึงคราววิบัติ ดูแลกันดีๆ นะที่รัก”

เสร็จแล้วก็ล่วงลับดับขันธ์ไป พร้อมกับความเข้าใจผิดว่า เพราะฉันขันตะวันจึงขึ้น หารู้ไม่ว่าวันรุ่งขึ้น พอไก่ตัวนี้ตายไปแล้ว ตะวันก็ยังขึ้นเหมือนเดิม โลกดำเนินต่อไปไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไก่ตัวนั้นไม่ได้นำเอาตะวันไปด้วยสักนิด พระอาทิตย์ยังคงอุทัย พระจันทร์ยังคงทอแสง สายน้ำยังคงไหลเอื่อย ดอกไม้ยังคงผลิบาน โลกนี้ยังคงมีข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ นกก็ยังมีข้าวปลาอาหาร คนต่างๆ ก็ยังคงทำงานต่อไปได้เหมือนเดิม

ฉะนั้น ผู้บริหารทุกคน เมื่อเราบริหารงานไปได้ระดับหนึ่งแล้ว อย่าหลงตัวเองว่า องค์กรนั้นถ้าขาดฉันแล้วไปต่อไม่ได้
แต่…ควรเตือนตัวเองเอาไว้บ่อยๆ ว่า ถ้าขาดฉันแล้วมันจะไปได้ดี เพื่อจะได้ไม่หลงตัวเอง

และเรื่องจริงอีกอย่างก็คือว่า เมื่อไม่มีเราบริษัท หรือ องค์กร ก็ต้องหาคนใหม่มาทำงานแทนอยู่ดีนั่นเอง เขาไม่ปล่อยให้ตำแหน่งงานที่เราทำอยู่ ว่างไปเปล่าๆอย่างแน่นอน

ผู้บริหารจำนวนมาก ทันทีที่ประสบความสำเร็จก็ล้มเหลวในวันนั้น
เพราะทันทีที่ประสบผลสำเร็จก็เริ่มหลงตัวเอง และนี่แหละคือจุดจบของผู้บริหาร

ฉะนั้นจำนิทานเรื่องนี้ไว้ วันหนึ่งถ้าเราประสบความสำเร็จ ก็อย่าไปหลงตัวเองว่าเราต้องเป็นหนึ่งในตองอูเท่านั้น จนไม่ยอมบริหารจัดการอำนาจความรับผิดชอบให้กับผู้อื่นเลย

ผู้บริหารที่ดี จึง ไม่ใช่ผู้ที่แบกหนักที่สุด

ผู้บริหารที่ดี คือ ผู้ที่แบกหนักพอสมควร และ กระจายภาระให้คนอื่นแบก

และประการสำคัญที่สุด ผู้บริหารจะไม่ทำงานจนป่วยตาย